ประวัติความเป็นมา

ตำบลวัดตูม แต่เดิมชื่อตำบลทุ่งลุมพลี แล้วแยกออกมาเป็นตำบลวัดตูมในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามวัดตูม ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ หมู่ที่ ๓ บ้านวัดตูม

องค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม ได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลวัดตูมเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล วัดตูม เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๙ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เดิมใช้อาคารอเนกประสงค์ของสภาตำบลวัดตูม ต่อมาสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้จัดซื้อที่ดิน จำนวน ๑ ไร่ ๒ งาน และก่อสร้างอาคารสำนักงานโดยใช้แบบอนุรักษ์ศิลปไทยประยุกต์ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๓,๕๙๔,๐๐๐ บาท แล้วเสร็จและเปิดให้บริการประชาชน เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๔ เป็นต้นมา

องค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม จัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙ อยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลวัดตูม ตั้งอยู่บริเวณถนนสายอยุธยา – ป่าโมก ห่างจากอำเภออำเภอพระนครศรีอยุธยา ประมาณ ๘ กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด ๔.๘๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓,๐๓๑.๒๕ ไร่

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อตำบลพุทเลา อำเภอบางปะหัน
ทิศตะวันออก ติดต่อตำบลลุมพลี และตำบลสวนพริก
ทิศใต้ ติดต่อตำบลภูเขาทอง และตำบลลุมพลี
ทิศตะวันตก ติดต่อตำบลบ้านใหม่

องค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม แบ่งการปกครองออกเป็น ๕ หมู่บ้าน (สำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕8) ดังนี้

หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน ชื่อกำนัน /ผู้ใหญ่บ้าน

บ้านโรงนา นายสมบัติ ทวีคูณ

บ้านสายกลาง นายยุทธณา มีสมนาค

บ้านวัดตูม นางสาววาทินี ทิพยเนตร

บ้านป่า นายอภิสิทธิ์ ทองนักสิทธิ์

บ้านโคกขาม นางจารวี จันเหมือน

ประวัติดวงตราสัญลักษณ์

ดวงตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม มีลักษณะเป็นรูปพระแสงขรรค์ราชศัตรา บนพานรัฐธรรมนูญ ลายร้อมไปด้วยลวดลายแกะสลักไทย อันแสดงถึงความหมาย ดังนี้

“พระแสงขรรค์ราชศัตรา” เป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าที่เกิดขึ้น จากการที่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชหลายพระองค์ได้ทรงประกอบพิธีชุบพระแสงและเครื่องศัสตราวุธ โดยใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์จากเศียรพระพุทธรูปวัดตูม ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนถึงเมื่อครั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินครั้งหลังสุด พ.ศ. ๒๔๕๑ เพื่อทรงประกอบพิธีชุบพระแสงขรรค์ราชศัตรา ซึ่งนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายในเศียรพระพุทธรูปหลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์มาละลายผงฝุ่นที่ทำเป็นเลขยันต์ ซึ่งเมื่อละลายแล้วจะมีลักษณะเหมือนดินสอพองละลายน้ำ จากนั้นจึงนำมาเขียนเป็นอักขระลงที่พระแสงขรรค์ราชศัตราทิ้งไว้ให้แห้ง เมื่อแห้งดีแล้วจึงนำพระแสงขรรค์ราชศัตราเข้าไปในเตาเผา จากนั้นจึงไปชุบลงในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ลงเครื่องพิชัยสงครามที่อยู่ข้างพระอุโบสถ เมื่อพระแสงเย็นแล้วจะเกิดเป็นตัวนูนขึ้นมาซึ่งเป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง หลังจากนั้นจึงนำมาล้างด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้ก็คือ น้ำที่อยู่ในเศียรของหลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์อีกครั้งหนึ่ง

วัดตูม เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ห่างจากตัวอำเภอพระนครศรีอยุธยาประมาณ ๖ – ๗ กิโลเมตร ไม่ปรากฏในหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างตั้งแต่เมื่อใด ทราบกันแต่ว่าเป็นวัดโบราณครั้งเมือง อโยธยา สร้างมาก่อนที่จะตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ในหนังสือทำเนียบพระอารามหลวงฉบับกรมธรรมการ พ.ศ.๒๔๖๕ กล่าวถึงประวัติของวัด ความว่า “๑๑๓ วัดตูม พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดสำหรับลงเครื่อง” ตลอดจนถึงทุกวันนี้ไม่ต่ำกว่าพันปี วัดตูมเป็นวัดโบราณและเป็นวัดสำหรับลงเครื่องพิชัยสงครามมาแต่ก่อนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดตูมหลายครั้ง วัดตูมจึงเป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาแต่ในรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา

กรมศิลปากรจึงได้ประกาศกำหนดให้วัดตูมเป็นโบราณสถานสำหรับชาติไทยวัดหนึ่ง ตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๔๗๗ ตามประกาศลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘

“พานรัฐธรรมนูญ” แสดงถึงความหมายของประชาชนทุกคนในตำบลวัดตูม ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เลื่อมใสและเทิดทูนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

“ลวดลายแกะสลักไทย” แสดงถึงความหมายของอาชีพที่ทรงคุณค่าด้านการสืบสานภูมิปัญญาไทย ในอาชีพช่างแกะสลักไม้ ซึ่งเป็นอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ของประชาชนในตำบลวัดตูม และสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน สำหรับการแกะสลักไม้แต่เดิมนั้น ส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาทั้งสิ้นได้แก่งานแกะสลักไม้ประกอบโบสถ์ วิหาร ศาลาวัด หอพระไตรปิฎก ตู้พระไตรปิฎก พระเจดีย์ ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย มีการสรรค์สร้างอย่างสวยงามและประณีตบรรจง