คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หลายราย มีความกังวลใจเรื่องภาวะคลอดก่อนกำหนด กลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ป้องกันได้หรือไม่ มาหาคำตอบกัน
การคลอดก่อนกำหนดบางส่วน เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องยุติการตั้งครรภ์ก่อนกำหนด เนื่องจากคุณแม่เกิดอาการแทรกซ้อนบางประการ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ แต่การคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่นั้น เราไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน จะมีบ้างในบางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อ เกิดจากความผิดปกติของมดลูกหรือปากมดลูก หรือเกิดจากความผิดปกติของทารกในครรภ์
สัญญาณเตือนที่สำคัญที่บอกว่าจะเกิดการคลอดก่อนกำหนดขึ้น คือ การที่พบว่ามีภาวะที่มดลูกมีการหดรัดตัวจำนวนครั้งที่บ่อยกว่าปกติ เช่น ทุก ๆ 10 นาที ร่วมกับคุณแม่มีอาการเจ็บท้อง หรือมีมูกเลือดออกทางช่องคลอดด้วย ถ้าพบอาการเหล่านี้ให้ไปพบคุณหมอก่อนนัด
ผลกระทบที่เกิดจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผลกระทบต่อทารกเอง และผลกระทบต่อครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูทารกที่คลอดก่อนกำหนด
ผลกระทบแรก คือ ผลกระทบต่อตัวทารก ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้นจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่างเนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ นั้นยังไม่พร้อมสำหรับการทำงาน ที่พบบ่อย คือ ภาวะหายใจลำบากเนื่องจากปอดของทารกนั้นยังไม่สมบูรณ์ นอกจากนั้นอาจจะพบภาวะเลือดออกในสมอง ลำไส้เน่าตายจากการขาดเลือด และการติดเชื้อที่รุนแรงได้ ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยมาก ๆ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจจะรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิตได้
ผลกระทบที่สอง คือ ผลกระทบต่อครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูทารกที่คลอดก่อนกำหนด สำหรับครอบครัวที่ต้องดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนดก็จะประสบปัญหาหลายอย่างเช่นเดียวกัน เนื่องจากทารกกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจะต้องมาโรงพยาบาลหลายครั้ง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะมากขึ้นตามภาวะแทรกซ้อนที่มากขึ้น
ปัจจุบันเราสามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ใน 2 กรณี
กรณีแรก ถ้าคุณแม่เคยมีประวัติว่าเคยคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ที่แล้ว การตั้งครรภ์ครั้งนี้ คุณหมอจะทำการฉีดฮอร์โมนเข้ากล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 1 ครั้งตั้งแต่ 16 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดซ้ำลงได้ 35 – 40 %
กรณีที่สอง ถ้าทำอัลตราซาวด์วัดความยาวปากมดลูก และพบว่าปากมดลูกสั้นกว่า 2.5 ซม. เราจะให้ฮอร์โมนเหน็บทางช่องคลอดวันละ 1 ครั้ง พบว่าสามารถลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดลงได้เกือบ 40% เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้การพักผ่อนให้เพียงพอ การหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนัก ๆ การงดการสูบบุหรี่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้เช่นเดียวกัน
ผศ.นพ.ประภัทร วานิชพงษ์พันธุ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล