เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวมอญที่มีความสามารถพิเศษในการเลี้ยงช้างฝึกถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช้างที่สำคัญคือ เจ้าพระยาไชยยานุภาพระวางสูงสุดที่เจ้าพระยาปราบหงสาวดี

จากประวัติการสร้างวัดช้างใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2250 ตรงกับช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยชาวมอญร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นมา คาดว่าชาวมอญที่ร่วมกันสร้างวัดช้างใหญ่แห่งนี้ คือ ชาวมอญที่ทำหน้าที่ดูแลช้างสำคัญ และช้างที่ชาวมอญดูแลนั้น มีช้างศึกของสมเด็จพระนเรศวรรวมอยู่ด้วย หลังจากที่ได้ชนะในสงครามยุทธหัตถีจึงสร้างวัดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์  สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่  พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร มีเสาและเครื่องบนเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีพาไลยื่นออกมาด้านหน้าตามแบบสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย รัตนโกสินทร์ตอนต้น ผนังด้านนอกด้านหน้าอุโบสถมีร่องรอยของภาพจิตรกรรมฝาผนัง

ที่ตั้ง

  • ที่ตั้ง : ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • เปิดให้เข้าชม : เวลา 08.00-16.30 น.
  • สอบถามข้อมูล : โทรศัพท์ 09 4664 1489, 08 3747 5811

แผนที่

อนุสรณ์เจ้าพระยาปราบหงสาวดี

ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นามเดิมคือ เจ้าพระยาไชยานุภาพ เมื่อครั้งสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135 เจ้าพระยาไชยานุภาพ ได้เป็นกำลังสำคัญให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถเอาชนะพระมหาอุปราชา จึงนับว่าเจ้าพระยาไชยานุภาพมีบุญคุณต่อชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จพระนเรศวรจึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่เป็น “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”

เดิมทีวัดช้างใหญ่มีชื่อเสียงว่าเกี่ยวข้องกับชาวมอญผู้เลี้ยงช้างศึกถวายพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติ แต่เพิ่งจะมีการค้นพบใหม่ คือพระพุทธรูปอันเป็นศิลปะล้ำค่าหายาก อายุกว่า 600 ปี ที่วัดแห่งนี้เพิ่มขึ้นมาไม่นานมานี้ ด้วยชาวมอญในย่านนี้รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ไทยด้วยการฝึกช้าง อันเป็นความชำนาญพิเศษมาช้านาน กระทั่งหัวหน้าชาวมอญผู้หนึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นจัตุลังคบาทควบคุมช้างศึก และได้เลื่อนยศเป็นทหารเอกแม่ทัพหน้าชนะศึกหลายครั้ง จนได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชมนู มีตำแหน่งสูงสุดเป็นถึงเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีสมุหกลาโหม โดยมีช้างที่สำคัญคือ เจ้าพระยาไชยยานุภาพ ระวางสูงสุดที่เจ้าพระยาปราบหงสาวดี เป็นช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเจ้าพระยาปราบไตรจักร เป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ ดังนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แรงกายแรงใจของชาวมอญและความสามารถของพระยาช้าง จึงได้สร้างวัดขึ้นและให้ชื่อว่า “วัดช้างใหญ่” โดยจัดสร้างอนุสาวรีย์ช้างศึก เจ้าพระยาปราบหงสาวดี ซึ่งเป็นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระบรมรูปของพระองค์ให้ประชาชนได้สักการะ

วิหารหลวงพ่อโต

สะท้อนสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งวาดตามขนบแบบอยุธยา คือด้านหลังพระประธานวาดภาพพระพุทธเจ้าผจญมาร ส่วนด้านที่มีหน้าต่างปรากฏภาพเทพชุมนุม ส่วนสถานที่สักการะยอดนิยมแห่งใหม่คือพระอุโบสถเก่า ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2554 บรรดาพระและสามเณรกำลังทำความสะอาดองค์พระภายในพระอุโบสถหลังเก่า เพื่อเตรียมจัดงานมหาสงกรานต์ เมื่อเช็ดทำความสะอาดพระพุทธรูปพระบริวารที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระประธาน พบว่าพระพุทธรูปปางมารวิชัยเนื้อปูนปั้น หน้าตัก 20 และ 29 นิ้ว ฝั่งซ้ายขวารวม 8 องค์ ประดิษฐานอยู่บนแท่นสูงราว 50 เซนติเมตร ทุกองค์ยิ้มมากน้อยต่างกันไป แต่ปากทาสีแดงสดทั้ง 8 องค์ สันนิษฐานว่าญาติโยมที่มาทำบุญปิดทองไหว้พระหลวงพ่อโตมาช้านาน คงปิดทองทับปากพระบริวารทั้ง 8 องค์ จึงไม่มีผู้ใดเคยเห็นปากพระพุทธรูปสีแดงนี้มาก่อน อันเป็นศิลปะของชาวมอญหรือพม่า ซึ่งจะนิยมทาปากสีแดงเป็นเอกลักษณ์ คาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 8 องค์นี้ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ 600 กว่าปีมาแล้ว ผนังด้านหน้าและผนังภายในพระอุโบสถของวัดช้างใหญ่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบด้าน เขียนด้วยสีฝุ่นรองพื้นด้วยดินสอพอง ด้านหลังองค์พระประธานเป็นภาพพระพุทธประวัติตอนมารวิชัย ผนังด้านหน้าพระประธานเป็นภาพไตรภูมิ ส่วนผนังด้านข้างด้านบนเป็นภาพเทพชุมนุม ส่วนด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพทศชาติชาดก ภาพจิตรกรรมเหล่านี้สันนิษฐานว่าเขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ระหว่างพ.ศ. 2275-2301 ต่อมาภาพบางตอนได้ถูกซ่อมแซมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประมาณปี พ.ศ. 2356

เจดีย์ราย

ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของอุโบสถ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงเครื่อง บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม น่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับอุโบสถของวัด