ประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม เรื่อง จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม

ด้วยปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการให้บริการสาธารณะ บรรเทาทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชนภายในกรอบอำนาจหน้าที่ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน อีกทั้ง เพื่อเป็นศูนย์รับแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงานขององค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม โดยเฉพาะในส่วนของการอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชนตามแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
องค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 จัดตั้ง “ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม” โดยกำหนดสถานที่ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียนฯ ณ ห้องสำนักปลัด ชั้น 2 พร้อมติดตั้งตู้รับเรื่องราวร้องทุกข์ บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล วัดตูม โดยมีผู้รับผิดชอบประจำศูนย์ประกอบด้วย

1. นายสธน พูลสัมฤทธิ์                    ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม                   เป็นหัวหน้า
2. นายพนธ์หิรัณย์ ลี้สกุล               รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม            เป็นเจ้าหน้าที่
3. นางสาวสุไลม๊ะ ไชยธารี               หัวหน้าสำนักปลัด                                                    เป็นเจ้าหน้าที่
4. นางสาวอมรรัตน์ เฉลยบุญ       นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ                                เป็นเจ้าหน้าที่
5. นางสาวนิตยา นุชเสียงเพราะ    ผู้ช่วยนิติกร                                                             เป็นเจ้าหน้าที่/เลขานุการ

โดยให้ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์องค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม มีอำนาจหน้าที่ และวิธีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. รับเรื่องราวข้อร้องทุกข์ ร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ อุปสรรค ความยุ่งยากหรือปัญหาอื่นใดจากประชาชน หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ แล้วทำการประเมิน วิเคราะห์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น
2. ในเบื้องต้นให้ถือเป็นความลับของทางราชการ หากเป็นบัตรสนเท่ห์ ให้พิจารณาเฉพาะรายที่ระบุหลักฐาน กรณีแวดล้อมปรากฏชัดแจ้ง ตลอดจนชี้พยานบุคคลแน่นอน
3. ประสานการปฏิบัติให้ส่วนราชการในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม ดำเนินการตามภารกิจที่เกี่ยวข้องและสามารถขอให้บุคคลในสังกัดส่วนราชการนั้นให้ถ้อยคำหรือข้อมูลเอกสาร หลักฐานใดๆ เพื่อประโยชน์สำหรับการนั้นได้
4. กรณีที่อาจเกี่ยวข้องกับคดี หรืออาจก่อให้เกิดเป็นคดีความได้ ให้แจ้งรายละเอียดเฉพาะ ที่ส่วนราชการเจ้าของเรื่องจะสามารถนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไปได้ โดยอาจมีการปกปิดข้อความตามคำร้องบางส่วนก็ได้  ทั้งนี้ หากส่วนราชการเจ้าของเรื่องประสานขอทราบข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมให้พิจารณาเป็นรายกรณี
5. กรณีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานอื่น ให้ส่งเรื่องให้หัวหน้าส่วนราชการหรือเหนือกว่าส่วนราชการต้นสังกัดของผู้ถูกร้อง หรือส่งเรื่องให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนเรื่องร้องเรียนของส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้นเป็นการเฉพาะ
6. ให้พิจารณาดำเนินการเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง ดังนี้
6.1 กรณีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ
6.2 กรณีที่อาจมีผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของผู้ร้อง ให้สรุปสาระสำคัญตาม คำร้องเฉพาะที่ส่วนราชการเจ้าของเรื่องจะสามารถนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไปได้ โดยอาจไม่นำส่งเอกสารคำร้องต้นฉบับ รวมทั้งหากมีความจำเป็นให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การคุ้มครองผู้ร้องเป็นพิเศษรายกรณี ทั้งนี้ หากมีการประสานขอทราบข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมให้พิจารณาเป็นรายกรณีด้วย
7. ประชาสัมพันธ์ การจัดตั้งศูนย์ฯ แนวทางในการร้องทุกข์และการรับเรื่องทุกข์ขององค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม
8. จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์
9. รายงานผลการปฏิบัติงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็ว
10. ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติราชการ  มุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง  เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้เกิดความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเกิด ผลสัมฤทธิ์ต่องานบริการ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในการให้บริการ  มีการปรับปรุงภารกิจให้ทันต่อสถานการณ์  ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ

องค์การบริหารส่วนตำบลวัดตูม เป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารงานและมีภารกิจรับผิดชอบในการพัฒนาช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เพื่อให้การดำเนินการให้บริการและอำนวยการด้านต่างๆ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั่วถึง รวดเร็ว สร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนได้ มีหน้าที่ดำเนินการรับและติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียน ร้องทุกข์ที่เข้ามาจากประชาชนและหน่วยงานจากช่องทางต่างๆ โดยมีข้อปฏิบัติตามที่กำหนด ดังนี้